วันอังคารที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดงานสัมมนา THAMMASAT RESOLUTION TALK ตั้งโจทย์ – ตอบอนาคต วาระการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยหลังการเลือกตั้ง ครั้งที่ 1


เวทีมธ.แนะทุกพรรคการเมืองชูนโยบาย
สร้างสังคมเสมอภาค-กระจายอำนาจ-ลดผูกขาดธุรกิจ
                มธ.เปิดเวทีวิชาการ ตั้งโจทย์-ตอบอนาคตเสนอพรรคการเมือง แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำวาระประเทศไทยหลังเลือกตั้ง 2562 เศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์พบสารพัดปัญหา ทั้งทรัพยากร การศึกษา สาธารณสุข เตือนรายได้เฉลี่ยคนไทยแตกต่างถึง 17 เท่า ด้านองค์การ อ็อกแฟมเปิดข้อมูลความมั่งคั่งของโลก 2 ใน 3 มาจาก มรดก-ธุรกิจผูกขาดนักวิชาการจุฬาฯ เสนอรื้อโครงสร้างเศรษฐกิจแนะ 4 ประเด็นให้พรรคการเมืองต้องตอบ
กรุงเทพฯ วันที่ 28 พฤศจิกายน 2561 - มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดงานสัมมนา THAMMASAT RESOLUTION TALK ตั้งโจทย์ ตอบอนาคต วาระการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยหลังการเลือกตั้ง ครั้งที่ 1 หัวข้อการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ท่ามกลางความสนใจของสื่อมวลชนและผู้เข้าร่วมกว่า 100 คน ณ ห้อง 101 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

                ศาสตราจารย์ ดร.อารยะ ปรีชาเมตตา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม (CRISP) คณะเศรษฐศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำหลากหลายมิติ ทั้งเชิงรายได้ การถือครองที่ดิน การศึกษา สาธารณสุขและการแพทย์ ดังนั้น การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน สร้างความทั่วถึงและเป็นธรรม นับเป็นโจทย์ท้าทายเพราะเกี่ยวข้องกับ 1. การเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่เป็นกติกาในการจัดสรรทรัพยากรทั้งในรูปของระบบภาษีและการใช้จ่ายภาครัฐ 2. การสร้างระบบสวัสดิการสังคม ช่วยให้ประชาชนทุกกลุ่มได้รับคุณภาพชีวิตที่ดีและมีโอกาสทัดเทียมโดยคำนึงถึงความยั่งยืนทางการคลัง และ 3. การพัฒนาโครงสร้างและสถาบันทางการเมือง ที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงสู่สังคมที่มีความเสมอภาค
                ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดวงมณี เลาวกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า นับตั้งแต่พ.. 2531-2558
หรือตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยแทบไม่มีความเปลี่ยนแปลงเรื่องความเหลื่อมล้ำด้านรายได้เท่าใด โดยข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปี 2558 ระบุว่ากลุ่มประชากรรายได้สูงสุดแตกต่างกับกลุ่มที่มีรายได้ต่ำสุดอยู่ถึง 17 เท่า
สำหรับความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา ข้อมูลปี 2559 พบว่าการเข้าถึงการศึกษาภาคบังคับของคนไทยอยู่ในสัดส่วนที่สูง แต่ยังมีเด็กวัยเรียนบางส่วนที่หลุดออกจากระบบและแนวโน้มอัตราการเข้าเรียนลดลงตามระดับการศึกษาที่สูงขึ้น โดยอัตราเข้าเรียนระดับปริญญาตรีของกทม.มีสัดส่วนสูงกว่าภาคอื่นๆ อยู่ที่ร้อยละ 40.4 ขณะที่ภาคใต้อยู่ที่ร้อยละ 19.2 ด้านสาธารณสุข
เกิดความเหลื่อมล้ำเรื่องคุณภาพบริการจากปัญหาการกระจายบุคลากรทางการแพทย์ ส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ในกทม. ขณะที่ภาค
อีสานน้อยที่สุด 

ด้านความเหลื่อมล้ำของระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มีการยกเว้นและลดหย่อนภาษีค่อนข้างมาก เช่นภาษีกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) กระจุกตัวอยู่ที่กลุ่มผู้มีเงินได้สูงร้อยละ 82 ของมูลค่าลดหย่อนทั้งหมด หากรัฐต้องการดึงคนเข้าสู่ตลาดทุนจริงๆ อาจให้เฉพาะผู้ที่มีเงินได้สุทธิไม่เกินปีละ 5 แสนบาท ขณะที่การถือครองที่ดินมีเอกสารสิทธิ 1 ใน 4 ของประเทศอยู่ในมือของกลุ่มคนเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น
 มาตรการรัฐที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้มากคือสวัสดิการสังคมต่างๆ เช่น การศึกษา สาธารณสุข การประกันสังคม การอุดหนุนคนที่มีรายได้น้อย การอุดหนุนผู้สูงอายุ ที่สำคัญคือต้องทำฐานข้อมูลกลุ่มคนจนเพื่อจัดสรรงบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพและตรงจุด
                นายจักรชัย โฉมทองดี  องค์การอ็อกแฟม (Oxfam) ประเทศไทย กล่าวถึงสถิติความเหลื่อมล้ำในระดับสากลว่า ข้อมูลของ
บริษัทหลักทรัพย์เครดิตสวิส พบว่า 42 คนแรกที่อยู่ในจุดสูงสุดของเศรษฐกิจโลก       มั่งคั่งเท่ากับคน 3,700 ล้านคนที่อยู่ในส่วนล่างของสังคม และจากข้อมูลปี 2523 ถึงปี 2559 พบว่าเงิน 1 บาท ในระบบเศรษฐกิจ จะกระจายในกลุ่มคนรวยซึ่งมีเพียงร้อยละ 1 ของประชากรทั้งหมดในอัตรา 27 สตางค์ ส่วนคนกลุ่มที่จนซึ่งมีอยู่มากกว่าร้อยละ 50 จะได้รับผลตอบแทนมาแบ่งกันเพียง 12 สตางค์
                รายงานยังพบว่า 1 ใน 3 ของความมั่งคั่งที่เกิดขึ้นในโลก มาจากการได้รับมรดก โดยจากนี้ไปอีก 20 ปี คนที่รวยที่สุด 500 คน จะส่งผ่านมรดกมูลค่า 2.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐให้กับลูกหลาน ขณะที่อีก 1 ใน 3 มาจากธุรกิจที่ผูกขาดหรือการยึดโยงกับสิทธิพิเศษที่ได้รับจากรัฐ
ตัวเลขความเหลื่อมล้ำนี้สะท้อนว่า 2 ใน 3 ของความมั่งคั่งที่เกิดขึ้นในโลก ไม่ได้มาจากการทำงานหนักหรือนวัตกรรมใดๆ นั่นเท่ากับว่าแม้คุณจะทำงานหนักเพียงใดก็คงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้นายจักรชัย กล่าว
ข้อเสนอการแก้ปัญหาของไทย นายจักรชัย กล่าวว่า ทุกพรรคการเมือง ควรประกาศจุดยืนให้ชัดเจนว่าจะมีนโยบายอย่างไรกับการพัฒนาสาธารณสุข ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สิทธิแรงงาน ระบบการศึกษาและความเท่าเทียมด้านรายได้ของเพศชายและหญิง
รองศาสตราจารย์ ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองปัจจัยที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำอยู่คง
ทนในประเทศไทยคืออำนาจทางการเมืองและอำนาจทางเศรษฐกิจ ซึ่งตลอด 50 ปีพบว่าอำนาจทางการเมืองเปลี่ยนแปลงน้อยมาก โดยที่ผ่านมาประเทศไทยมีการกระจายอำนาจทำให้ทรัพยากรที่เคยรวมศูนย์ถูกกระจายออกไป แต่หลังจากมีการรัฐประหาร ทรัพยากรเหล่านั้นถูกดึงกลับมารวมศูนย์อีกครั้ง
 ขณะที่อำนาจทางเศรษฐกิจ ผลตอบแทนจากทรัพย์สินมีสัดส่วนสูงกว่าผลตอบแทนด้านแรงงาน ดังนั้นหากไม่มีการปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจที่ผูกขาดโดยมหาเศรษฐีที่พึ่งพิงอำนาจทางการเมือง ก็คงไม่สามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำได้
                ถ้าพ่อแม่รายได้ต่ำ มีโอกาสทางเศรษฐกิจน้อย ย่อมเป็นเรื่องยากที่จะทำให้ลูกเปลี่ยนชนชั้นทางเศรษฐกิจขึ้นมาได้ เรื่องนี้เป็นการส่งต่อคือเมื่อพ่อแม่จนลูกก็จะจน เราจึงต้องสร้างกลไกขึ้นมาปกป้องให้เด็กคนหนึ่งที่ไม่ว่าจะเกิดมาจากครอบครัวที่มีฐานะใดต้องมีโอกาสเปลี่ยนฐานะของตัวเองได้ สิ่งสำคัญและอนาคตของประเทศขึ้นอยู่กับคุณภาพการศึกษารองศาสตราจารย์ ดร.นวลน้อย กล่าว
                 สำหรับสิ่งที่ต้องการฟังจากพรรคการเมืองคือ 1. จะแก้ไขเรื่องการผูกขาดทางการเมืองและการกระจายอำนาจอย่างไร 2.จะ
แก้ไขเรื่องการผูกขาดทางเศรษฐกิจอย่างไร
3. นโยบายเรื่องการจัดการที่ดินและฐานทรัพยากรให้เกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงได้ 4.การจัดบริการและสวัสดิการสาธารณะ
รัฐบาลปัจจุบันไม่สนใจและไม่เชื่อมั่นเรื่องการกระจายอำนาจ ดูเหมือนว่าจะทำให้ถอยหลังด้วยซ้ำ เพราะมองว่าท้องถิ่นไม่โปร่งใส แต่ในฐานะที่ทำงานเรื่องคอรัปชั่นมา ยืนยันได้ว่าทั้งราชการและท้องถิ่นไม่ได้มีความแตกต่างกัน รองศาสตราจารย์ ดร.นวลน้อย กล่าว
อนึ่ง งานสัมมนา THAMMASAT RESOLUTION TALK ตั้งโจทย์ ตอบอนาคต วาระการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยหลังการเลือกตั้ง เป็นชุดงานสัมมนาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดขึ้นรวมทั้งสิ้น 3 ครั้ง ประกอบด้วย 1. การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ วันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา 2. การกระจายอำนาจและการปฏิรูประบบราชการ วันที่ 13 ธันวาคม 2561 และ 3. การแก้ไขปัญหาคอรัปชั่น วันที่ 21 มกราคม 2562

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น