วันอาทิตย์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2562

ไหว้ครูมวยไทยโลก ครั้งที่ 15

ไหว้ครูมวยไทยโลก ครั้งที่ 15
15th World Wai Kru Muay Thai Ceremony
ณ บริเวณวัดมหาธาตุ และวัดหลังคาขาว อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกับจังหวัดพระนครศรีอยุธยา  กรมศิลปากร  สมาคมครูมวยไทย  สมาคม
กีฬามวยอาชีพแห่งประเทศไทย  สมาคมสถาบันศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวแบบไทย  สหพันธ์มวยไทยโลก  และธนาคารกรุงเทพ ร่วมจัดงานไหว้ครูมวยไทยโลก ครั้งที่ 15 ณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ภายใต้แนวคิด  "ครั้งหนึ่งในชีวิตการเรียนมวยไทย ต้องมาร่วมพิธีไหว้ครูที่ประเทศไทย"   พบกับสุดยอดประสบการณ์การไหว้ครูมวยอันศักดิ์สิทธิ์  กับการไหว้ครูมวยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก โดยครูมวยชั้นนำจากทั่วประเทศ  หวังจิตสำนึกของชาวต่างชาติที่ชื่นชอบมวยไทย  ให้รู้จักการไหว้ครูตามประเพณีที่ดีงามของประเทศไทย  การจัดพิธีบวงสรวงบูรพมหากษัตริย์ไทย  และการรำไหว้ครูมวยไทย กว่า 1,500 คน จาก 69 ประเทศ   โดยมีนายฉัททันต์ กุญชร ณ อยุธยา รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิคใต้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พร้อม นายสุจินต์ ไชยชุมศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมส่วนราชการ เข้าร่วมพิธีเปิด
ภายในงานได้มีการจัดกิจกรรมมาแสดงต่าง ๆ มากมาย อาทิ  การแข่งขันชกมวยไทยอาชีพ การแข่งขันชกมวยไทยอาชีพ "ศึกมหัศจรรย์ มวยไทยมรดกโลก"  จากนักมวยไทยอาชีพ ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ  ชมการสาธิตและฝึกสอนมวยไทยโบราณ ทั้ง 4 สาย ได้แก่ มวยท่าเสา มวยโคราช มวยลพบุรี มวยไชยา  การออกร้านจำหน่ายสินค้าจากสมาคมและค่ายมวยชั้นนำจากเมืองไทย ที่จะมาจำหน่ายอุปกรณ์ช่วยต่างๆ ของที่ระลึก รวมไปถึง
หลักสูตรการเรียนมวยไทย  กิจกรรมสาธิตหัตถศิลป์ไทย ทั้งการสักยันต์ การเขียนยันต์ การตีดาบ การถักมงคล และผ้าประเจียด รวมไปถึงการแสดงศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวแบบไทย การทดสอบพละกำลังด้วยวิธีการซ้อมแบบโบราณ และนิทรรศการมวยไทย  ร่วมชิมอาหารพื้นบ้านของดีจากอยุธยา ไม่ว่าจะเป็น โรตีสายไหม ข้าวแกงโบราณ
ไหว้ครูมวยไทยโลก ครั้งที่ 15 ณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  ซึ่งจัดขึ้นในช่วงระหว่างวันที่  16-17 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา  สถานที่จัดงาน บริเวณวัดมหาธาตุ วัดหลังคาขาว และวัดหลังคาดำ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา  โดยมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อให้นัก มวยไทยชาวต่างชาติได้เข้าใจและเห็นความสำคัญของพิธีไหว้ครู และตระหนักว่า "ครั้งหนึ่งในชีวิตการเรียนมวยไทย ต้องมาร่วมพิธีไหว้ครูที่ประเทศไทย"
การเดินทางจากสถานีรถไฟหัวลำโพง  กรุงเทพฯ โดยรถไฟขบวนสาย 
กรุงเทพฯ - พิษณุโลก เหมาโบกี้ท้ายขบวน การรถไฟแห่งประเทศไทย  สัมผัสความสุข สนุกกับการเดินทางเหมือนย้อนวันวานที่เคยเที่ยวแบบนั่งรถไฟถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง แต่ปัจจุบันเขาพัฒนาไปแล้ว ความทันสมัยมีไว้บริการแก่นักท่องเที่ยวมากขึ้น  การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย  ต้องการให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสวิถีการเดินทางท่องเที่ยวได้หลายรูปแบบ หลายสไตล์ ถึงที่หมายแบบไทยเทห์ได้เช่นกันใช้เวลาบนรถไฟชมบรรยากาศ  2 ข้างทาง แวะทุกสถานี ประมาณ  2 ชั่วโมงเศษ  แฮปปี้มากครับ  ปลายทางสถานี อยุธยา
การสาธิตและฝึกมวยไทยโบราณ 4 สาย ที่มีคำกล่าวว่า “หมัดหนักโคราช ฉลาดลพบุรี ท่าดีไชยาไวกว่าท่าเสา”  จากครูมวยที่สืบทอดวิชาจากรุ่นสู่รุ่น ให้คงอยู่สืบไป ได้แก่  มวยโคราช มีเอกลักษณ์การแต่งกายคาดเชือกตั้งแต่หมัดขึ้นไปจวดข้อศอก หมัดที่ต่อยเป็นวงกว้างหนักหน่วง เรียกว่า หมัดเหวี่ยงควาย ได้รับการกล่าวขาน
ว่า “หมัดหนักโคราช” โดยได้รับเกียรติจาก ครูจรัสเดช อุลิต นายกสมาคมมวยโบราณ  ครูมวยผู้เชี่ยวชาญมวยโบราณ สำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติ เป็นผู้ให้การฝึกสอน   มวยลพบุรี มีเอกลักษณ์ต่อยหมัดแม่นยำ หลอกล่อหลบหลีกได้ดี มีการเคลื่อนไหวรวดเร็วว่องไว  จนได้รับการกล่าวขานว่า “ฉลาดลพบุรี” โดยได้รับเกียรติจาก ครูชนทัต มงคลศิลป และครูยุทธนา วงบ้านดู่ ผู้เชี่ยวชาญมวยลพบุรี เป็นผู้ให้การฝึกสอน 
มวยไชยา มีเอกลักษณ์ การจรดมวยและท่าย่าง การป้องกัน ป้องปัด ปิดเปิด จนได้รับการกล่าวขานว่า “ท่าดีไชยา” โดยได้รับเกียรติจาก ครูกฤดากร สุดประเสริฐ (ครูเล็ก) ผู้สืบสายมวยจากปรมาจารย์เขตศรียาภัย เป็นผู้ให้การฝึกสอน    มวยท่าเสา หรือมวยพระยาพิชัย มีเอกลักษณ์เป็นการผสมผสานมวยไทยกับมวยจีน มีความรวดเร็วว่องไว และสู้แบบประชิดตัว  จนได้รับการกล่าวขานว่า  “ไวกว่าท่าเสา”  โดยได้รับเกียรติจาก ครูสมพร แสงชัย ผู้สืบสานมวยไทยสายพระยาพิชัยดาบหัก เป็นผู้ให้การฝึกสอน

กิจกรรมสาธิตหัตถศิลป์ไทย ทั้งการสักยันต์  การเขียนยันต์  การตีดาบอรัญญิก การแสดงศิลปะการต่อสู้
ป้องกันตัวแบบไทย  การทดสอบพละกำลังด้วยวิธีการซ้อมแบบมวยไทยโบราณ  เช่น  เตะกระสอบป่าน  และนิทรรศการมงคลมวยไทย ร่วมชิมอาหารพื้นบ้านคาวหวานขึ้นชื่อของอยุธยา เช่น โรตีสายไหม ข้าวแกงโบราณ
พิธีไหว้ครูมวยไทยโลก ครั้งที่ 15 โดยมีแนวคิดการนำเสนอจัดพิธีไหว้ครูมวยไทยให้ถูกต้องตามขั้นตอนประเพณีการจัดพิธีบวงสรวงบูรพมหากษัตริย์ไทยและทหารกล้าของไทย ร่วมปกป้องแผ่นดินไทยไว้ การรำ
ไหว้ครูโดยได้รับเกียรติจากนักมวยที่มีชื่อเสียง จำนวน 4 ท่านได้แก่ สิทธิชัย ศิษย์สองพี่น้อง (แชมป์โลก กลอรี่ คิกบ๊อกซิ่ง รายการ  “กลอรี่ 57" ปี 2561 ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน) ตะวันฉาย พี.เค. แสนชัยมวยไทยยิม (นักมวยไทยดีเด่น ในวันกีฬาแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2561) อนุวัฒน์ แก้วสัมฤทธิ์ (" เพชฌฆาตขนตางอน" นักมวยไทยดีเด่นแห่งชาติการกีฬาแห่งประเทศไทยถ้วยพระราชทานปี 2547) และพันธ์พยัคฆ์ จิตรเมืองนนท์ (ยอดมวย 3 พ.ศ.) ขึ้นรำไหว้ครูนำนักกีฬามวยไทยทุก
ชาติที่เข้าร่วมพิธีทุกคน
กิจกรรม  “พิธีไหว้ครูมวยไทยโลก” ได้จัดต่อเนื่องกันมาที่จังหวัด พระนครศรีอยุธยา  โดยครั้งนี้ เป็นครั้งที่  15  โดยเลือกสถานที่ในการจัดงานที่บริเวณวัดมหาธาตุ วัดหลังคาขาว และวัดหลังคาดำ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา  นอกจากจะเป็นการจัดงานเพื่อเชิดชูครูมวยไทย อันเป็นศิลปะมวยไทยที่เลื่องชื่อโด่งดังไปทั่วโลก  การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย  ร่วมกับจังหวัด
พระนครศรีอยุธยา  ยังได้เล็งเห็นถึงการส่งเสริมศิลปะ  วัฒนธรรม ที่เป็นเอกลักษณ์ของคนไทย  นักท่องเที่ยวยังได้สัมผัสกับโบราณสถานอันเป็นประวัติศาสตร์ของชาวกรุงศรีอยุธยา  ชมแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียงที่มีความงดงามทางธรรมชาติที่คงอยู่ไว้อีกมากมาย  อย่างเช่น  วัดหลังคาขาว  วัดพระงาม  วัดไชยวัฒนาราม  วัดหน้าพระเมรุ  พิพิธภัณฑ์ล้านของเล่น  ทั้งหมดนี้  ล้วนเป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวสามารถแวะชม  ร่วมเก็บภาพบันทึกประวัติศาสตร์เพื่อถ่ายทอดสู่ชนรุ่นหลัง  รุ่นสู่
รุ่น  รวมถึงร่วมกันประชาสัมพันธ์สถานที่ท่องเที่ยวภายในประเทศให้แก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศได้รับรู้ถึงความงดงามในแต่ละพื้นที่ของประเทศไทยทั้งเมืองหลัก และเมืองรอง  ช่วยกระจายรายได้สู่ชุมชนในทุกท้องที่

วัดหลังคาขาว ตั้งอยู่ถัดออกไปทางด้านทิศเหนือของวัดหลังคาดำ ไม่ปรากฏหลักฐานในเอกสารเกี่ยวกับประวัติการสร้าง ภายในวัดประกอบด้วยเจดีย์ประธานทรงระฆังกลมบน ชุดฐาน เหลี่ยม เช่นเดียวกับเจดีย์ประธานวัดหลังคาดำ ซึ่งเป็นรูปแบบที่นิยมสร้างกันมาแต่สมัยอยุธยาตอนต้น ส่วนพระวิหารนั้นเหลือเพียงส่วนของฐานรากทางด้านทิศตะวันออกของเจดีย์ประธาน

วัดพระงามวัดพระงามหรือวัดชะราม ตั้งอยู่นอกเกาะเมืองอยุธยาทางด้านทิศเหนือ บริเวณทุ่งขวัญ วัดหันหน้าไปทางด้านทิศตะวันออก มีเจดีย์แปดเหลี่ยมเป็นประธานของวัด ด้านหน้าวัดหรือด้านหน้าหรือด้านทิศตะวันออก มีเจดีย์ประธานเป็นอุโบสถ มีกำแพงแก้วและคู น้ำล้อมรอบวัด สิ่งก่อสร้างต่างๆ ภายในวัดมีร่องรอยการบูรณปฏิสังขรณ์มาแล้วหลายครั้ง

วัดพระงาม ไม่ปรากฏหลักฐานในเอกสารว่าสถาปนาขึ้นในปีใด แต่มีปรากฏในโคลงบทที่ 23 ของนิราศนครสวรรค์ ซึ่งเชื่อว่าแต่งขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ได้เอ่ยถึงวัดนี้
 แต่จากการศึกษาทางด้านโบราณคดีสามารถสรุปได้ว่า วัดนี้สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น และถูกทิ้งร้างไปเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 ใน พ.ศ. 2310
วัดพระงาม หรือประตูแห่งกาลเวลา ที่ชาวบ้านเรียกเป็นซุ้มประตูที่ถูกรากของต้นโพธิ์ปกคลุมโอบล้อมเป็นร้อยๆปี มหัศจรรย์แห่งความงดงามที่ไม่เหมือนใคร

วัดไชยวัฒนาราม วัดไชยวัฒนาราม   ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกนอกเกาะเมือง เป็นวัดที่พระเจ้าปราสาททอง  กษัตริย์กรุงศรีอยุธยาองค์ที่ 24 (พ.ศ. 2173-2198) โปรดให้สร้างขึ้นเมื่อพ.ศ.2173 ได้ชื่อว่าเป็นโบราณสถานที่มีความงดงามมากแห่งหนึ่ง ความสำคัญอีกประการหนึ่งคือ วัดนี้เป็นที่ฝังพระศพของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) กวีเอกสมัยอยุธยาตอนปลายกับเจ้าฟ้าสังวาลย์ซึ่งต้องพระราชอาญาโบยจนสิ้นพระชนม์ในรัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
ชมภายในวัดได้แก่ พระปรางค์ศรีรัตนมหาธาตุ เป็นปรางค์ประธานของวัดตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสและที่มุมฐานมีปรางค์ทิศประจำอยู่ทั้งสี่มุม การที่สมเด็จพระเจ้าปราสาททองซึ่งเป็นกษัตริย์สมัยอยุธยาตอนปลายทรงสร้างปรางค์ขนาดใหญ่เป็นประธานของวัด เท่ากับเป็นการรื้อฟื้นศิลปะสมัย
อยุธยาตอนต้นที่นิยมสร้างปรางค์เป็นประธานของวัด เช่น การสร้างปรางค์ที่วัดมหาธาตุและวัดราชบูรณะ เนื่องจากพระองค์ทรงได้เขมรมาอยู่ใต้อำนาจจึงมีการนำรูปแบบสถาปัตยกรรมเขมรเข้ามาใช้ในการก่อสร้างปรางค์อีกครั้งหนึ่ง
นอกจากนี้ยังมีพระระเบียงรอบปรางค์ประธาน ภายในพระระเบียงมีพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย ผนังระเบียงก่อด้วยอิฐถือปูน มีลูกกรงหลอกเป็นรูปลายกุดั่น พระอุโบสถ อยู่ด้านหน้าของวัดภายในมีซากพระ
ประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยสร้างด้วยหินทราย ใบเสมาของพระอุโบสถทำด้วยหินสีค่อนข้างเขียว จำหลักเป็นลายประจำยามและลายก้านขด และเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ทางด้านหน้าพระอุโบสถมีเจดีย์ 2 องค์ ฐานกว้าง 12 เมตร สูง 12 เมตร ซึ่งถือเป็นศิลปะที่เริ่มมีแพร่หลายตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง วัดไชยวัฒนารามได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2478 และกรมศิลปากรได้ดำเนินการบูรณะตลอดมาจนปัจจุบันไม่มีสภาพรกร้างอยู่ในป่าอีกแล้ว และยังคงมองเห็นเค้าแห่งความสวยงามยิ่งใหญ่ตระการตา ซึ่งผู้ไปเยือนไม่ควรพลาดชมอย่างยิ่ง เปิดทุกวันเวลา 08.00–18.00 น. ค่าเข้าชม ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 50 บาท หรือสามารถซื้อบัตรรวมได้ ชาวไทย 40 บาท ชาวต่างชาติ 220 บาท โดยบัตรนี้สามารถเข้าชมวัดและโบราณสถานบริเวณ

อุทยานประวัติศาสตร์ได้ ภายในระยะเวลา 
30 วัน ได้แก่ วัดพระศรีสรรเพชญ์และพระราชวังหลวง วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ วัดพระราม วัดไชยวัฒนาราม

วัดไชยวัฒนาราม เปิดให้เข้าชมตั้งแต่เวลาประมาณ 19.30- 21.00 น. จะมีการส่องไฟชมโบราณสถานอุทยานประวัติศาสตร์พระ นครศรีอยุธยามีบริการเครื่องโสตทัศนาจร สามารถฟังข้อมูลการบรรยายวัดพระศรีสรรเพชญ์ วัดไชยวัฒนาราม และวัดมหาธาตุ เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ สามารถเช่าได้ที่จุดบริการใกล้ป้อมจำหน่ายบัตรของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา โดยคิดค่าบริการ เครื่องละ 150 บาท สำหรับชม 3 วัดดังกล่าว (ราคาไม่รวมค่าบัตรเข้าชมโบราณสถาน) อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา อำเภอพระนคร ศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เบอร์โทร +66 3524 2284, +66 3524 2286


จดีย์บรรจุพระอัฐเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ (เจ้าฟ้ากุ้ง)
ตั้งอยู่ในพื้นที่ระหว่างระเบียงคดกับกำแพงแก้วทางด้านทิศเหนือ เป็นเจดีย์ก่ออิฐสอปูนทรงระฆังกลม ตามรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย ผิวด้านนอกของเจดีมีร่องรอยการทาสีแดง ซึ่งยังปรากฏอยู่ที่บัวปากระฆังและปล้องไฉน
เจดีย์องค์นี้สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เพื่อบรรจุพระอัฐิของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์พระโอรสองค์ใหญ่ ซึ่งปรากฏในพระราชพงศาวดารว่าพระองค์ทรงกระทำความผิดฐานลักลอบเป็นชู้กับเจ้าฟ้าสังวาลพระสนมของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ จึงต้องพระราชอาญาถูกเฆี่ยนจนสิ้นพระชนม์ หลังจากทำพิธีพระราชทานเพลิงศพตามพระราชประเพณี พระจ้าอยู่หัวบรมโกศจึงโปรดฯให้สร้างเจดีย์ขึ้น เพื่อบรรจะพระอัฐิ


วัดหน้าพระเมรุ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำลพบุรีนอกเกาะเมืองอยุธยาด้านทิศเหนือ ตรงข้าม
กับพระราชวังหลวง ตามตำนานกล่าวว่าพระองค์อินทร์ในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ทรงสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2047 พระราชทานนามว่า “วัดพระเมรุราชิการาม” ต่อมาเรียกกันภายหลังว่า “วัดหน้าพระเมรุ” สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นตรงที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง
โดยเหตุที่วัดหน้าพระเมรุตั้งอยู่ตรงข้ามกับพระราชวัง
หลวง ดังนั้นในช่วงศึกสงครามวัดนี้จึงถูกใช้เป็นที่ตั้งค่ายหรือที่บัญชาการรบ เช่นครั้งพระยาละแวกยกทัพเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ. 2100 และเมื่อครั้งพระเจ้าอลองพญากษัตริย์พม่ายกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ. 2303 เป็นต้น
เนื่องจากเป็นวัดสำคัญ วัดหน้าพระเมรุคงจะได้รับการบำรุงรักษาและบูรณปฏิสังขรณ์ต่อ ๆ กันมาตลอดสมัยอยุธยา ครั้นถึงสมัยรัตนโกสินทร์วัดนี้ทรุดโทรมมากและไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา พระยาไชยวิชิต (เผือก) ผู้รักษากรุงศรีอยุธยาในสมัยรัชกาลที่ จึงได้ทำการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่และนิมนต์พระสงฆ์มาอยู่รักษาพระอารามเมื่อ พ.ศ. 2378


พิพิธภัณฑ์ล้านของเล่น พิพิธภัณฑ์ล้านของเล่นเกริกยุ้นพันธ์  เป็นอาคาร 2 ชั้น สีฟ้า ชั้นบน นิทรรศการงานสะสมเกี่ยวกับวิถีไทย มีอายุหลายร้อยปีได้แก่ เครื่องกระเบื้อง เครื่องแก้ว ข้าวของเครื่องใช้ เงินตรา เครื่องเงิน เครื่องถม เครื่องเขิน งานลงยา เครื่องประดับ งานแกะสลัก งาช้าง งานประดับมุก เครื่องดนตรีโบราณ เครื่อง
เล่น และเครื่องรางของขลัง
ชั้นล่าง นิทรรศการการงานสะสมเกี่ยวกับของเล่นโบราณ มีอายุ 50-150 ปี ได้แก่ ของเล่นไม้ ดิน ตะกั่ว สังกะสี เซลลูลอยด์ เหล็ก และพลาสติก ผลิตจากประเทศเยอรมนี ญี่ปุ่น อังกฤษ ฝรั่งเศส จีน อเมริกา และไทย
ค่าเข้าชม เด็ก 20 บาทผู้ใหญ่ 50 บาท หมู่คณะผู้ใหญ่ท่านละ 30 บาท
ที่ตั้ง 45 หมู่ 2 ถนนอู่ทอง ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอพระนครศรีอยุธยา 13000 (แยกโรงเรียนประตูชัย) เปิดทุกวัน  เว้นวันจันทร์ ตั้งแต่เวลา 09:00-16:00 น.



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น