วันเสาร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติราชบุรี มีนิทรรศการแหล่งความรู้ที่ไม่น่าพลาด หากผ่านนครปฐม

พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติราชบุรี
ประวัติความเป็นมา
พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ราชบุรี ตั้งอยู่ที่ถนนวรเดช ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2529 โดยกรมศิลปากรได้ขออนุมัติใช้อาคารศาลากลางจังหวัดราชบุรีหลังเดิม ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2465 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ใช้เป็นสถานที่จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ตามโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติประจำเมืองของกรมศิลปากร



วัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง
เพื่อต้องการให้เป็นศูนย์กลางการศึกษา อนุรักษ์และเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจทางด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติที่จะสนองความต้องการของประชาชนและชุมชนในพื้นที่จังหวัดราชบุรี และ
จังหวัดใกล้เคียงตามแนวทางการพัฒนากิจการพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติสมัยใหม่ โดยมีการจัดนิทรรศการถาวรที่เน้นเรื่องราวของท้องถิ่น ทั้งด้านธรณีวิทยา โบราณคดี ประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ศิลปะวัฒนธรรมพื้นบ้าน ชาติพันธุ์วิทยา และแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและธรรมชาติที่สำคัญของจังหวัดราชบุรี
การจัดแสดง
พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ราชบุรี เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2534 โดยสมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานในพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ราชบุรี ประกอบด้วยอาคารสำคัญ 2 หลัง เป็นอาคารจัดแสดงและอาคารส่วนบริการต่างๆ ดังต่อไปนี้
อาคารจัดแสดงนิทรรศการถาวร ได้แก่ อาคารศาลากลางจังหวัดราชบุรีหลังเดิม สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2465 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบตะวันตกที่ได้รับความนิยมนำมาสร้างกันอย่างแพร่หลายในช่วงรัชกาลที่ 5-6 กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2520 การจัดแสดงนิทรรศการภายในอาคารจะเน้นเรื่องราวของท้องถิ่นตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ โดยแบ่งการจัดแสดงออกเป็น 5 เรื่องด้วยกันได้แก่
         1. สภาพภูมิศาสตร์และธรรมชาติวิทยาของจังหวัดราชบุรี จัดแสดงแหล่งกำเนิดทรัพยากรธรรมชาติประเภท ดิน หิน แร่ธาตุและ
รูปจำลอง ลักษณะภูมิประเทศของจังหวัดราชบุรีและจังหวัดใกล้เคียง (กาญจนบุรีและเพชรบุรี) โดยมีตัวอย่างของซากดึกดำบรรพ์ ดิน หินแร่ อัญมณี และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่มีแหล่งกำเนิดในจังหวัดราชบุรี จะแสดงประกอบ
         2. ประวัติศาสตร์และโบราณคดีของจังหวัดราชบุรี จัดแสดงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่พบในจังหวัดราชบุรีเรียงลำดับตามยุคสมัยดังต่อไปนี้
               2.1 สมัยก่อนประวัติศาสตร์ จัดแสดงหลักฐานที่สำคัญทางโบราณคดีของมนุษย์ในยุคที่มีการตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยในบริเวณ
จังหวัดราชบุรี เช่น เครื่องมือ เครื่องใช้ รวมทั้งเครื่องประดับที่ทำจากหิน โลหะ กระดูกสัตว์ต่างๆ รวมทั้งภาชนะดินเผา กลองมโหระทึก และโครงกระดูกมนุษย์ เป็นต้น
              2.2 ราชบุรีในวัฒนธรรมทวารวดี จะแสดงเรื่องราวและหลักฐานต่างๆ ของวัฒนธรรมทวารวดีที่พบในจังหวัดราชบุรี ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 11-15 โดยเฉพาะเรื่องราวของเมืองโบราณคูบัว และเทือกเขางู
              2.3 ราชบุรีในวัฒนธรรมเขมร จะแสดงเรื่องราวและหลักฐานของวัฒนธรรมเขมรหรือ "ลพบุรี" ที่ปรากฏในจังหวัดราชบุรีในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16-18 โดยมีโบราณวัตถุที่สำคัญภายในห้องจัดแสดงนี้ ได้แก่ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี พบที่บริเวณจอมปราสาทเมืองโบราณโกสินารายณ์เป็น 1 ในจำนวน 5 องค์ ที่พบในดินแดนประเทศไทย
              2.4 ราชบุรีในสมัยสุโขทัย-ธนบุรี จะแสดงเรื่องราวของจังหวัดราชบุรีในช่วงทศวรรษที่ 18-24 จากหลักฐานที่เมืองราชบุรีที่
ปรากฏในศิลาจารึกสมัยสุโขทัย ราชบุรีเป็นเมืองท่าเมืองหน้าด่าน และเส้นทางการเดินทัพในสมัยอยุธยา โดยจะแสดงหลักฐานด้านสถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม เครื่องถ้วยจีน และเครื่องปั้นดินเผา
             2.5 ราชบุรีในสมัยรัตนโกสินทร์ จัดแสดงเรื่องราวจังหวัดราชบุรีในช่วง พ.ศ. 2325-2475 แสดงถึงความสำคัญของเมืองราชบุรีในด้านการเมือง การปกครอง การพัฒนาท้องถิ่น ต่อเนื่องจากสมัยกรุงธนบุรีจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ (ร.7)
         3. เผ่าชนชาติพันธุ์วิทยาของจังหวัดราชบุรี จัดแสดงเรื่องราวของกลุ่มชาติพันธุ์ของจังหวัดราชบุรี ที่มีความหลากหลายทางเชื้อ
ชาติและเผ่าพันธุ์เป็นลักษณะเด่นของจังหวัด กลุ่มชนเหล่านี้มีความแตกต่างกันทางวัฒนธรรมและประเพณีที่แต่ละชาติพันธุ์ยังคงยึดถือปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมดั้งเดิม ชาติพันธุ์เหล่านี้ ได้แก่ ชาวไทยพื้นถิ่นภาคกลาง ชาวไทยจีน ชาวไทยยวน ชาวไทยมอญ ชาวไทยกะเหรี่ยง ชาวไทยลาวโซ่ง ชาวไทยลาวเวียง และชาวไทยเขมรลาวเดิม
         4. มรดกดีเด่น แบ่งการจัดแสดงออกเป็นหัวข้อต่างๆ ดังนี้
              4.1 มรดกดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม เช่น สถานที่สำคัญ และแหล่งท่องเที่ยวปูชนียวัตถุที่สำคัญคู่บ้านคู่เมือง ประเพณีวัฒนธรรมและเทศกาลงานประเพณี อาหารพื้นบ้านและหัตถกรรมพื้นบ้าน เป็นต้น
              4.2 มรดกดีเด่นทางธรรมชาติ ได้แก่ สถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญทางธรรมชาติ เช่น อุทยานหินเขางู โป่งยุบ แก่งส้มแมว เป็นต้น รวมทั้งต้นไม้และพันธุ์ไม้ประจำจังหวัดราชบุรี
              4.3 บุคคลสำคัญ ได้แก่ บุคคลสำคัญที่มีชื่อเสียงและทำคุณประโยชน์ให้แก่จังหวัดในด้านต่างๆ เช่น ปูชนียบุคคลที่สำคัญทาง
ประวัติศาสตร์ บุคคลสำคัญทางด้านทหาร การเมืองและการปกครอง รวมทั้งบุคคลสำคัญทางด้านวัฒนธรรมและศิลปินเพลงพื้นบ้านต่างๆ
         5. ราชบุรีในปัจจุบัน จัดแสดงนิทรรศการเรื่อง "ราชบุรี ราชสดุดี" เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ต่อเมืองราชบุรี ในด้านต่างๆ ประกอบด้วย ด้านการอนุรักษ์โบราณสถาน ด้านการพระศาสนา ด้านการประชาสงเคราะห์ และเสด็จฯเยี่ยมราษฎร ด้านการเกษตรและชลประทาน ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ด้านการศึกษา ด้านการลูกเสือแห่งชาติ
อาคารกองบัญชาการของรัฐบาลมณฑลราชบุรี
         ลักษณะเป็นอาคารที่ได้รับอิทธิพลทางสถาปัตยกรรมตะวันตกเช่นเดียวกับอาคารศาลากลางจังหวัดราชบุรีหลังเดิม มีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตัวอาคารแบ่งออกเป็น 2 ชั้น ครึ่งตึกครึ่งไม้ ยกพื้นสูง หลังคามุงกระเบื้องว่าวและด้านหน้าก่อมุขยื่นออกไป สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. 2416 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เพื่อใช้เป็นจวนที่พักของสมเด็จพระเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในสมัยต้นรัชกาลที่ 5 และต่อมาได้ใช้เป็นกองบัญชาการรัฐบาลมณฑลราชบุรี ในคราวแรกของการจัดตั้งมณฑลราชบุรี และได้ใช้เป็นสถานที่ทำการต่างๆ ของส่วนราชการอื่นๆ ต่อมาในภายหลัง จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2539 กรมศิลปากรได้ขออนุญาตใช้อาคารแห่งนี้จากกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง เพื่อปรับปรุงให้เป็นอาคารส่วนบริการ โดยชั้นล่างเป็นพื้นที่สำหรับจัดนิทรรศการหมุนเวียน และกิจกรรมพิเศษต่างๆ ส่วนชั้นบนใช้เป็นสำนักงานและคลังจัดเก็บศิลปะโบราณวัตถุเพื่อการศึกษาของพิพิธภัณฑ์
ขอขอบคุณ คุณฉัตรชัย คงเสือ เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี โทร.081-6801734   ผู้บรรยาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น