วันจันทร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ข่าวดี “ยูเนสโก” ประกาศให้ “โขน”ขึ้นบัญชีมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ประเภทรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ เตรียมจัดเฉลิมฉลองโขนตลอดปี ๖๒


         ด่วน!! ข่าวดี ยูเนสโกประกาศให้ โขนขึ้นบัญชีมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ประเภทรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ เตรียมจัดเฉลิมฉลองโขนตลอดปี ๖๒ เปิดตัวภาพยนตร์แอนิเมชั่นรามเกียรติ์ ตอน รามาวตาร”             
         จัดมหกรรมการแสดงโขนส่วนกลาง ภูมิภาค เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ ๙ พร้อมจัดนิทรรศการเผยแพร่องค์ความรู้-ประกาศย่องเชิดชูเกียรติผู้ทำคุณประโยชน์ต่อวงการโขน



         วันที่ 29 พฤศจิกายน ๒๕๖๑ นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยว่า ได้รับรายงานว่าผลการประชุมคณะกรรมการร่วมระหว่างรัฐบาลเพื่อการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโก ครั้งที่ ๑๓ ระหว่าง วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๑ ธันวาคม ๒๕๖๑ ณ เมืองพอร์ตหลุยส์ สาธารณรัฐมอริเชียส ซึ่งมีผู้แทนจากประเทศภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เข้าร่วมประชุม ๑๘๑ ประเทศ โดยที่ประชุมได้พิจารณาและประกาศให้ขึ้นบัญชี การแสดงโขนในประเทศไทย “Khon masked  dance drama in Thailand” ในรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติอย่างเป็นทางการ

         นายวีระ กล่าวว่า ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่หาที่สุดมิได้ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ ๙ ทรงอนุรักษ์ ส่งเสริม ฟื้นฟู สืบสาน และพัฒนาการแสดงโขนในทุกมิติ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดสร้างเครื่องแต่งกายเครื่องประดับโขนชุดใหม่ พัฒนาการแต่งหน้าให้งดงามดึงดูดความสนใจ พัฒนารูปแบบและเทคนิคการแสดง ฉากเวที แสง สี เสียง อันเป็นที่มาของโขนพระราชทาน ด้วยองค์ประกอบอันเป็นเอกลักษณ์โดดเด่น จึงทำให้โขนไทยยิ่งใหญ่อลังการ สร้างความตื่นตาประทับใจ แก่ชาวไทยและชาวต่างประเทศ ดังนั้น ถือว่าเป็นข่าวดีของคนไทยที่โขน ได้รับการประกาศขึ้นบัญชีจากยูเนสโกให้เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ

         อย่างไรก็ตาม ในปี ๒๕๖๑ เป็นปีแรกที่ประเทศไทยนำเสนอรายการมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ให้ยูเนสโกพิจารณา หลังจากประเทศไทยสมัครเข้าร่วมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโก เมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๙ โดยมีพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ.2559 รองรับการเป็นภาคีอนุสัญญาฯ และมีคณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ซึ่งมี รมว.วธ. เป็นประธานและมีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) เป็นฝ่ายเลขานุการ ได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อรวบรวมข้อมูลและจัดทำเอกสารในการนำเสนอโขนต่อยูเนสโก

         นอกจากนี้ ที่ผ่านมา สวธ.ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ส่งเสริมและดำเนินงานปกป้องคุ้มครองมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ได้ประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของไทยมาตลอดตั้งแต่ปี ๒๕๕๒-๒๕๖๑ รวมจำนวน ๓๓๖ รายการ ทั้งนี้หลังโขนได้รับการประกาศขึ้นบัญชีเป็นทางการแล้ว สวธ. ได้จัดทำแผนงานและกิจกรรมสำหรับเฉลิมฉลองโขนตลอดปี ๒๕๖๒ อาทิ 1.จัดแสดงโขนรอบพิเศษ ตอน พิเภกสวามิภักดิ์วันที่ ๓๔ ธันวาคม ๒๕๖๑ ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย 2.จัดสร้างภาพยนตร์แอนิเมชั่นรามเกียรติ์ ตอน รามาวตาร เพื่อฉายในโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศ และจัดเผยแพร่องค์ความรู้ในรูปแบบต่างๆ เช่น การสาธิตงานช่างฝีมือโขน สาธิตการแสดงโขน การเสวนาความรู้คุณค่าของโขน การผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ จัดพิมพ์หนังสือองค์ความรู้เกี่ยวกับโขนฉบับเยาวชน จัดทำสารคดีโขน นิทรรศการเผยแพร่ความรู้ รวมทั้งการจัดทำคลังข้อมูลโขนในรูปแบบดิจิทัล 3.จัดกิจกรรมสร้างความภาคภูมิใจด้วยการยกย่องเชิดชูเกียรติให้กับบุคคล องค์กรผู้ทำคุณประโยชน์ต่อวงการโขน และ 4.จัดงานมหกรรมการแสดงโขน ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ที่ทรงอนุรักษ์ ส่งเสริม ฟื้นฟู สืบสาน และพัฒนาการแสดงโขน เป็นต้น

         อนึ่ง โขนเป็นนาฏศิลป์และศิลปะชั้นสูงที่เก่าแก่ของไทยมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มีเอกลักษณ์โดดเด่น รวมศาสตร์และศิลป์หลายแขนงเข้าไว้ด้วยกันทั้งนาฏศิลป์ ดนตรี วรรณกรรม พิธีกรรมและงานช่างฝีมือต่างๆ โขนเป็นมหรสพที่บรรพชนไทยสร้างสรรค์ขึ้นและยังคงสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น จนปัจจุบันมีการบรรจุหลักสูตรการเรียน การสอนโขนในสถาบันการศึกษาหลายระดับ คุณค่าของโขน จึงมิใช่แค่เพียงศิลปะการแสดง แต่ยังผสานและสะท้อนถึงวิถีแห่งความเป็นไทยไว้อย่างชัดเจน อีกทั้ง โขนถือเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมร่วมกันในอาเซียนที่ปรากฏในหลายประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ เมียนมา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชาและไทย โดยรับเอาวัฒนธรรมมาจากประเทศอินเดีย ซึ่งดัดแปลงจากวรรณกรรมเรื่องรามายณะและมีการพัฒนารูปแบบของการแสดงโขนในแบบฉบับของตนเองจนเป็นอัตลักษณ์
         อย่างไรก็ตาม  คณะกรรมการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เตรียมเสนอมรดกภูมิปัญญาของไทยเสนอต่อยูเนสโก เพื่อขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติในปีต่อไป ได้แก่ นวดแผนไทย โนรา เป็นต้น รวมทั้งยังมีการศึกษาแนวทางการเสนอมรดกวัฒนธรรมภูมิปัญญาที่มีความคล้ายคลึงกันกับประเทศต่างๆ เพื่อเสนอเพิ่มเติมด้วย
        




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น