วันศุกร์ที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2562

เทศกาลแห่ยักษ์คุ ชานุมาน ครั้งที่ 7 จังหวัดอำนาจเจริญ

          เทศกาลแห่ยักษ์คุ ชานุมาน ครั้งที่ 7  กำหนดขึ้น ระหว่างวันที่ 9-11 เมษายน พ.ศ. 2562 ณ สนามหน้าที่ว่าการอำเภอชานุมาน อ.ชานุมาน จ.อำนาจเจริญ
          กิจกรรมในงานประกอบด้วย การปั่นจักรยานชมเมืองยักษ์คุ เล่าเรื่องราว ชานุมาน การแข่งขันตกปลา ที่แก่งหินขัน ริมแม่น้ำโขง การออกร้าน จัดนิทรรศการ การประกวดผลผลิตของเกษตรกร ที่มีความใหญ่ยักษ์ และการแสดงอีกมากมาย

           ไฮไลท์ ของงานอยู่ที่ วันที่ 
11 เมษายน พ.ศ.2562  จะตะลึง ตื่นตา ตื่นใจ กับ ขบวนแห่ยักษ์คุของแต่ละหน่วยงาน  ขบวนแห่ฟ้อนรำ ซึ่งนางรำทุกคน เพ้นท์หน้าแต่งตัวเป็นยักษ์คุ อย่างสวยงาม และน่าทึ่ง เห็นแล้วประทับใจ ไม่มีที่ไหนมาก่อน แห่งเดียวในประเทศไทย ขบวนแห่อัตลักษ์ ตำบลของชาวชานุมาน โดยขบวนแห่ยักษ์คุ
จุดเริ่มต้นที่ตลาดเทศบาลตำบลชานุมาน แห่ไปตามถนนสายหลัก เขตเทศบาลตำบลชานุมาน  และไปสิ้นสุดที่บริเวณสนามหน้าที่ว่าการอำเภอชานุมาน ซึ่งเป็นสถานที่จัดงาน ตลอด วัน นอกจากนี้ ยังจะได้ชม การเดินแบบชุดพื้นเมือง การประกวดธิดายักษ์ชานุมาน การประกวดธิดาชานุมาน การประกวดร้องเพลงลูกทุ่ง “ YAKKHU SINGING CONTEST  2019 

         การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานอุบลราชธานี สนับสนุนงานเทศกาลแห่ยักษ์คุ เต็มที่ โดยความร่วมมือกับ สภาคมท่องเที่ยวสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว กลุ่ม โขง ชี มูล (อุบลราชธานี ยโสธร อำนาจเจริญ)  รวมทั้ง จ.ศรีสะเกษ  จัดคาราวาน แต่งยักษ์ทั้ง จังหวัด และจังหวัดละไม่ต่ำกว่า 10 คัน มาร่วมขบวนแห่ จึงเป็นเรื่องแปลกและสร้างความสนุกสนานแก่นักท่องเที่ยวทุกคน ที่มาร่วมคาราวาน ซึ่งจะต้องแต่งกายเป็นยักษ์ โดย ททท. สนับสนุน ช่างเพ้นท์หน้ายักษ์ 
ขอขอบคุณ
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)
ที่มาของชื่ออำเภอชานุมานตามตำนานนิทานเรื่องยักษ์คุ           ในกาลครั้งที่พระลักษมณ์พระราม พานางสีดาเดินดงไปกลางป่า ปรากฏมียักษ์ ชื่อทศกัณฐ์มาลักพาตัวนางสีดาไป ทีแรกขังไว้ที่ริมแม่น้ำโขง นางสีดาก็ร้องไห้คิดถึงพระราม บริเวณนั้นจึงเรียกว่า ท่านางสีดา หรือ บ้านนาสีดาในปัจจุบัน   ยักษ์ทศกัณฐ์กลัวพวกพระรามจะได้ยิน จึงพานางสีดาเหาะข้ามแม่น้ำโขงไปขังไว้ที่ปราสาทเฮือนหิน (ฝั่งตรงข้ามบ้านท่ายักษ์คุ อำเภอชานุมาน จ.อำนาจเจริญ ปัจจุบันเรียกบ้านเฮือนหิน แขวงสะหวันนะเขต ประเทศลาว)  พระลักษ์พระรามตามมาทันจึงเข้าสู้รบกับทศกัณฐ์  ม้าของพระรามกระโดเตะปราสาทเฮือนหินจนพังดังที่ปรากฏในปัจจุบัน  ในขณะที่สู้รบกันอยู่นั้น นางสีดาได้หนีมาอยู่เกาะกลางแม่น้ำโขงแล้วปะแป้งแต่งหน้ารอพระราม จึงเรียกเกาะนี้ว่า ดอนสีนวดหรือดอนชะโนด ในที่สุดเมื่อทศกัณฐ์ ยอมแพ้จึงร้องขอชีวิตโดยคุกเข่ากราบไปที่พระธาตุเฮือนหิน บริเวณที่คุกเข่า จึงเรียกว่า “ท่ายักคุกเข่ าหรือท่ายักคุ” จนกระทั่งเป็นที่มาของคำว่า ชานุมาร รอยที่ยักษ์คุกเข่าปรากฏขึ้นเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ แห่ง ให้เห็นกระทั่งปัจจุบัน  นิทานเรื่องยักษ์คุมีหลายสำนวน แต่ทุกเรื่องก็เป็นการอธิบายถึงพื้นที่ต่างๆในลุ่มแม่น้ำโขงและอำเภอชานุมานโดยผูกเข้ากับนิทานเรื่องรามเกียรติ์สำนวนลาวสองฝั่งโขง
          การตั้งถิ่นฐานของอำเภอชานุมานมีขึ้นในสมัยรัชกาลที่5 โดย มีชาวลาวคนหนึ่งได้มาศึกษาเล่าเรียนที่เมืองหลวงประเทศไทยโดยทางราชการลาว ส่งเข้ามาเมื่อจบการศึกษาแล้วก็กลับประเทศของตน แต่เป็นระยะเวลาที่ฝรั่งเศสเข้ายึดครองประเทศลาวชายผู้นี้เกิดความไม่พอใจ ไม่ต้องการเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสจึงเดินทางมาติดต่อกับรัฐบาลไทย จึงขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารและขอสร้างเมืองอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำโขงของไทยที่บ้าน ท่ายักษ์คุ เมื่อทางการไทยได้อนุญาตแล้วก็ได้กลับไปประเทศลาวนำสมัครพรรคพวกหนีฝรั่งเศส มาอยู่ฝั่งไทยบริเวณบ้านท่ายักษ์คุ และในปี พ.ศ.2422 รัชกาลที่ 5โปรดให้ตั้งบ้านท่ายักษ์คุขึ้นเป็นเมืองชานุมานมณฑลขึ้นกับเมืองอุบลราชธานี โดยมีพระปลัดซ้าย (เคน) บุตรท้าวมณฑาธิราช เจ้าเมืองลำเนาหนองปรือ เป็นเจ้าเมืองชานุมารมณฑล ในตำแหน่งพระผจญจัตตุรงค์ แต่ในครั้งนั้นพระผจญจัตตุรงค์กลับพาไพร่พลไปตั้งที่บ้านท่ากระดานไม่ได้ตั้งที่บ้านยักษ์คุตามที่ขอไว้ เมื่อพระเจ้าบรมวงค์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ได้เป็นข้าหลวงใหญ่ต่างพระองค์หัวเมืองอุบลราชธานี ได้เกิดการปฎิรูปการปกครองครั้งใหญ่ ซึ่งก็ทำให้เมืองชานุมารมณฑลถูกลดฐานะลง เป็นอำเภอชานุมารมณฑลขึ้นกับเมืองอุบลราชธานี และในปี พ.ศ.2455ได้เกิดข้าวยากหมากแพง และมีโรคระบาดร้ายแรง ผู้คนจึงอพยพไปตั้งบ้านเมืองใหม่อยู่ทางจังหวัดหนองคายเป็นจำนวนมากทำให้พลเมืองเหลือน้อย อำเภอชานุมาร จึงถูกลดลงเป็นกิ่งอำเภอขึ้นต่ออำเภอเขมราฐ จนถึงปี พ.ศ.2501 ทางราชการจึงได้ยกฐานะขึ้นเป็นอำเภออีกครั้ง เรียกว่า อำเภอชานุมาน โดยเปลี่ยนคำว่า “ ชานุมาร ” (ผู้เบียดเบียน) เป็น “ ชานุมาน ” (ผู้มีความมานะพยายาม)  และในปี พ.ศ. 2536 อำเภอชานุมานได้ขึ้นกับจังหวัดอำนาจเจริญจนถึงปัจจุบัน (สุจิตต์ วงษ์เทศชื่อบ้านนามเมืองอำนาจเจริญหน้า118)
             จากการศึกษาข้อมูลประวัติความเป็นมาของอำเภอชานุมาน สามารถสรุปได้ว่าอำเภอชานุมานนั้นมีขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยมีชื่อเมืองเดิมว่าเมืองชานุมารมณฑล และมีพระผจญจัตตุรงค์ เป็นเจ้าเมืองคนแรกขึ้นกับเมืองอุบลราชธานี และถูกลดฐานะลงเป็นกิ่งอำเภอชานุมารขึ้นกับอำเภอเขมราฐ เมืองอุบลราชธานี จนถึงปี พ.ศ.2501 จึงได้กลับมาตั้งเป็นอำเภออีกครั้งและเปลี่ยนชื่อ จากชานุมาร เป็น ชานุมาน จนกระทั่งถึงปี พ.ศ.2536 อำเภอชานุมาน จึงได้ขึ้นกับจังหวัดอำนาจเจริญจนถึงปัจจุบัน












































ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น