วันพฤหัสบดีที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2562

ดีอี “เนรมิตอาคารแสดงประเทศไทย” โชว์ศักยภาพเทคโนโลยีดิจิทัลสู่สายตาประชาคมโลก ในงาน World Expo 2020 Dubai คาดมีผู้เข้าชมทะลุ 1.7 ล้านคน

ดีอี “เนรมิตอาคารแสดงประเทศไทย”
โชว์ศักยภาพเทคโนโลยีดิจิทัลสู่สายตาประชาคมโลก
ในงาน World Expo 2020 Dubai คาดมีผู้เข้าชมทะลุ 1.7 ล้านคน
               กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประกาศความพร้อมเข้าร่วมจัดแสดงนิทรรศการ     “อาคารแสดงประเทศไทย” ภายในงาน World Expo 2020 Dubai ณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ระหว่างวันที่ 20 ตุลาคม 2563 -10 เมษายน 2564 หวังประกาศศักยภาพเทคโนโลยีดิจิทัลของ      ประเทศไทยให้ทั่วโลกรับรู้ พร้อมเนรมิตอาคารแสดงประเทศไทย ภายใต้แนวคิด“Mobility for the future การขับเคลื่อนสู่อนาคต” โดยเลือกพวงมาลัยเป็นสัญลักษณ์เพื่อสื่อถึงการต้อนรับที่จริงใจ เผยไทยเข้าร่วมงานต่อเนื่องตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 หรือ กว่า 140 ปี คาดมีผู้เข้าร่วมชมไม่ต่ำกว่า 1.7 ล้านคน มั่นใจส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของประเทศดันการท่องเที่ยว การลงทุนและการส่งออกของไทยเติบโตสูงขึ้น

              10  มกราคม  62 ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม   (ดีอี)   เปิดเผยว่า
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้รับเกียรติให้เป็นตัวแทนประเทศไทยในการเข้าร่วมจัดแสดงนิทรรศการในงาน World Expo 2020 Dubai ณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ระหว่างวันที่      20 ตุลาคม 2563 – 10 เมษายน 2564 รวมตลอดระยะเวลาจัด
แสดงนิทรรศการทั้งสิ้น 6 เดือน เพื่อแสดงศักยภาพด้านเทคโนโลยีดิจิทัลของประเทศไทยให้ทั่วโลกได้รับรู้ รวมทั้งส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทยตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนประเทศไทยในทุกมิติ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสและเชื่อมโยงประเทศสู่เวทีโลก อีกทั้งยังปฎิรูปประเทศไทยไปสู่เป้าหมายของการเป็นดิจิทัลไทยแลนด์อย่างเต็มรูปแบบ และเป็นเวทีที่ประเทศไทยสามารถประกาศศักยภาพในการเป็นผู้นำเทคโนโลยีดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียน

         
สำหรับการเข้าร่วมงาน World Expo 2020 Dubai ครั้งนี้นับเป็นเวทีโลกที่ทำให้ประเทศไทยประกาศศักยภาพความพร้อมด้านเทคโนโลยีดิจิทัลของประเทศ รวมทั้งเผยแพร่ภาพลักษณ์ที่ดีของไทยต่อประชาคมโลก โดยเฉพาะคนไทยสามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ที่ต่อยอดจากฐานทรัพยากรและภูมิปัญญาดั้งเดิมได้อย่างสอดคล้องลงตัว ตลอดจนแสดงศักยภาพของประเทศไทยในด้านธุรกิจ การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศเกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัล จึงทำให้นักลงทุนทั่วโลกเกิดความมั่นใจที่จะเข้ามาลงทุนหรือร่วมลงทุนและตั้งฐานการลงทุนในประเทศไทยทั้งภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรม    

              พร้อมกันนี้ยังส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยว่ามีแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามจำนวนมาก   อีกทั้งการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างเป็นรูปธรรมจะช่วยสร้างความมั่นใจให้นักท่องเที่ยวเห็นว่าเที่ยวเมืองไทยสะดวกปลอดภัย ขณะที่ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ       จะเป็นการกระชับความสัมพันธ์ด้านการต่างประเทศและนโยบายอื่นๆ ของรัฐบาลไทยกับสหรัฐอาหรับ        เอมิเรตส์ และประเทศสมาชิกอื่นที่เข้าร่วมงาน
             นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่างานแสดงนิทรรศการ  World Expo 2020 Dubai ได้กำหนดหัวข้อหลัก (Theme) คือ “CONNECTING MINDS, CREATING THE FUTURE”หรือ"เชื่อมความคิด สร้างอนาคตโดยมีจุดประสงค์เพื่อเป็นเหมือนสัญญาณที่จะส่งต่อให้ทุกคนร่วมใจกันพัฒนาโลก ประกอบกับสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นต่อ ๆ ไป        รวมทั้งพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างภาคองค์กรและภูมิศาสตร์ เพื่อตอบสนองความต้องการอันหลากหลายของโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ตลอดจนส่งเสริมการนำเสนอนวัตกรรม โดยแนวคิดในการจัดงานครั้งนี้ถูกแบ่งออกเป็น 3 หัวข้อย่อย ได้แก่  1.โอกาส (Opportunity) 2.การขับเคลื่อน (Mobility) และ3.ความยั่งยืน (Sustainability)
             นอกจากนี้ World Expo 2020 Dubai ยังมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดงานให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจของโลก จากนิทรรศการเพื่อสร้างความตระหนักและการเรียนรู้แก่กลุ่มประชากรในพื้นที่จัดงานและประเทศใกล้เคียง เป็นนิทรรศการแห่งโอกาสทางเศรษฐกิจที่เปิดกว้างแบบไร้พรมแดนของประชาคมโลกผ่านกิจกรรมส่งเสริมการลงทุนและการจับคู่ธุรกิจ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยและนโยบายไทยแลนด์ 4.0 อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาประเทศไทยได้เข้าร่วมงาน World Expo จากอดีตจนถึงปัจจุบันกว่า 30 ครั้ง เป็นระยะเวลากว่า 140 ปี
               ด้าน ดร.ณัฐพล  นิมมานพัชรินทร์  ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa)  กล่าวว่าประเทศไทยจัดสร้างอาคารแสดงประเทศไทยในพื้นที่โซน Mobility บนพื้นที่กว่า 3,606 ตารางเมตร หรือ 2.25 ไร่ จัดขึ้นภายใต้แนวคิดMobility for the future” การขับเคลื่อนสู่อนาคต” เพื่อแสดงถึงวิถีการเชื่อมสัมพันธไมตรีในแบบชาวสยามเมืองยิ้มที่สร้างความประทับใจให้กับต่างชาติ โดยเฉพาะเอกลักษณ์ของยิ้มสยามคือรอยยิ้มที่จริงใจทำให้ประเทศไทยแตกต่างและโดดเด่นจนกลายเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงคนไทยกับคนทั่วโลกได้เป็นอย่างดี (Connecting minds) และนี่เป็นส่วนสำคัญที่เชื่อมโยงและขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่อนาคต (Creating the Future)
            ส่วนการออกแบบด้านสถาปัตยกรรมจะใช้ สีทองเป็นสีที่สื่อถึงแผ่นดินทองที่มีความอุดมสมบูรณ์และเปี่ยมไปด้วยอารยธรรมที่มีมาอย่างยาวนานเป็นองค์ประกอบของอาคารเครื่องยอดต่างๆ แสดงออกถึงความสำคัญของอาคาร ดังนั้นผู้ออกแบบจึงนำสีทองมาเน้นเป็นจุดเด่นให้แก่ตัวอาคารแสดงประเทศไทย  ขณะที่การไหว้ในความหมายที่รู้จักกันไปทั่วโลกคือการสวัสดี ดังนั้นจึงสร้างอาคารแสดงประเทศไทยให้มีลักษณะเป็นซุ้มโค้งคล้ายคนประนมมือไหว้ถือเป็นจุดเด่นและเอกลักษณ์เฉพาะของอาคาร หมายถึงการยินดีต้อนรับสู่อาคารแสดงประเทศไทย



             นอกจากนี้ ยังเลือกใช้“พวงมาลัย”เป็นสัญลักษณ์ประจำอาคารประเทศไทย เพื่อสื่อถึงการต้อนรับที่จริงใจ และได้นำรายละเอียดของพวงมาลัยมาใช้ในงานตกแต่งผนังของอาคาร โดยมีรูปแบบการจัดวางองค์ประกอบล้อไปกับรูปแบบของการร้อยมาลัยที่มีเสน่ห์และเอกลักษณ์เฉพาะตัวและสร้างเอกลักษณ์พิเศษให้กับอาคารแสดงประเทศไทยทางด้านกายภาพ โดยที่พวงมาลัยนั้นได้ถูกดัดแปลงให้เข้ากับยุคดิจิทัลด้วยลายเส้นที่สานต่อกันเป็นรูปร่างของพวงมาลัย เปรียบเสมือนการเชื่อมต่อของคนไทย วัฒนธรรม และ วิถีชีวิต โดยที่พวงมาลัยนี้ มีอุบะ 4 ช่อ เพื่อแสดงถึงไทยแลนด์ 4.0

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น